ประวัติความเป็นมา
ในระหว่างปีที่เจ้าสามฝั่งแกน (จากหนังสือของดีนครลำปาง, โรงพิมพ์ไทยล้านนา, 2513 หน้า 108 - 110) ได้รับราชสมบัติราชาภิเษก เป็นพระมหาราชาเจ้าพระนครพิงค์เชียงใหม่สืบสนองพระราชบิดา ซึ่งสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 1954 นั้น เจ้ายี่กุมกามซึ่งอยู่ครองเมืองเชียงราย พระเชษฐต่างมารดายกทัพเข้าตีพระนครพิงค์เชียงใหม่ เพื่อแย่งชิงเมืองแต่กำลังไม่พอถึง พึ่งบารมีของกษัตริย์สุโขทัย พญาลือไทแห่งสุโขทัยยกทัพขึ้นมาด้านแม่น้ำยมตีเมืองพะเยา และพยายามตีเมืองเชียงใหม่ทางด้านเจ้านันตาเมืองท่าเวียงชัย (ปัจจุบันคือบ้านท่าเวียง ตำบลเวียงมอก) ยกไปสมทบตีตีชิงเอาเมืองเชียงใหม่ เจ้านันตาทรงประชวรจึงกลับทัพลงมาทางบ้านแม่มอก พระนางติโลกจุกราชมหาเทวีทรงรักษาการราชการแทนเจ้าสามฝั่งแกน ได้จัดทัพไว้รับรองเป็นสามารถพญาไสลือไท ไม่อาจตีชิงเอาเมืองเชียงใหม่ได้จึงยกทัพกลับสู่สุโขทัย เจ้านันตาเกรงพระยาอาญาจึงทรงรักษาตัวอยู่ที่แม่มอก ซึ่งเป็นบ้านของพ่อตาชาวลัวะ ชื่อพะราเจ ชาวบ้านเรียกว่าปู่เจ้าพะราเจ ยังมีศาลปรากฎอยู่เป็นที่เคารพสักการะของชาวตำบลแม่มอกตราบเท่าทุกวันนี้ ส่วนด้านทิศเหนือของตำบลแม่มอกซึ่งเป็นที่กลับทัพช้างของเจ้านันตาเรียกว่า สันกลับช้าง
เจ้านันตาไม่กลับเมืองท่าเวียงชัย ได้เอาสมบัติเงินทองฝั่งไว้ในตำบลแม่มอกนี้ ได้ถามผู้สมัครใจจะอยู่เฝ้ารักษาสมบัติ นายอินทร์ซึ่งเป็นราชบุตรของเจ้านันตากับแม่พระกรานรับอาสาจึงได้ทำพิธีประหาร สถานที่นี้ยังมีชื่อปรากฎอยู่ที่บ้านแม่มอกนี้เรียกว่า ร่องประหาร รวมทั้งหมดที่ประหารในครั้งนั้น 1,111 ศพ ทุกวันนี้บริเวณร่องประหารยังมีเครื่องใช้ต่างๆ ที่ยังฝังไว้มากมาย ส่วนเจ้านันตาได้หลบหนีอาญาสุโขทัยขึ้นไปบนขุนแม่มอกสร้างกู่ไว้หลายสิบกู่ได้ปลูกต้นยางไว้สามต้นและหวายหนึ่งกอเป็นเครื่องหมายตั้งปริศนาในการค้นหาสมบัติให้คนรุ่นหลังไว้ว่า “หวายสามขต ยางสามต้น ขนมกวนบ่แล้ว” ชาวบ้านเรียกว่า สันกู่ห้วยนายอินทร์ มีกู่ต้นยางใหญ่และหวายหนึ่งกอเรียงเป็นแนวยาวปรากฎเป็นหลักฐานอยู่ทางทิศตะวันออกของตำบลแม่มอก
ต้นน้ำที่ไหลลงสู่หมู่บ้านแม่มอก ชาวบ้านนิยมเรียกน้ำที่ไหลตลอดฤดูกาลว่า แม่น้ำผาคอก ไหลลงสู่หมู่บ้านพะคอกชาวบ้านซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำแม่ผาคอก เรียกเพี้ยนกันมาว่าน้ำแม่มอกและได้เรียกชื่อหมู่บ้านตามลำน้ำว่า “บ้านแม่มอก”